พะแนงเป็นแกงกะทิน้ำขลุกขลิกที่ต้องมีรสหวานนำ ตามด้วยรสเค็มและมักจะไม่เผ็ดมาก หอมกลิ่นใบมะกรูด แม้ว่าน้ำพริกแกงจะคล้ายกับน้ำพริกแกงเผ็ดแต่น้ำแกงจะข้นกว่า เพราะใส่ถั่วลิสงเพิ่ม มีส่วนคล้ายกับแกงเนื้อของอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียงคือ เรนดัง แต่หั่นเนื้อชิ้นใหญ่ สันนิษฐานว่า แกงพะแนงได้รับอิทธิพลมาจากจากชวาครั้งสมเด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวา
ต้นห้องได้นำมาดัดแปลงและหั่นเนื้อให้เป็นชิ้นเล็กพอดีคำ พะแนงเป็นแกงไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศกลุ่มมุสลิม เช่น อินเดีย เปอร์เซีย หรือมลายู การรับวัฒนธรรมอาหารมาสู่กันทำให้อาหารถูกแปรจากแกงหนึ่งไปเป็นอีกแกงหนึ่ง จากชื่อหนึ่งเปลี่ยนไปสู่อีกชื่อหนึ่งและจากวัตถุดิบหนึ่งเปลี่ยนไปตามความนิยมในวัฒนธรรมการกิน ในอดีตนั้นแกงพะแนงนับว่าเป็นอาหารคาวสำคัญสำหรับตำรับชาววัง จึงทำให้พะแนงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมการกินของคนภาคกลาง
สูตรแกง พะแนงเนื้อ พร้อมวิธีทำ เนื้อวัว 400 กรม น้ำพริกแกงพะแนง 150 กรัม ใบโหระพา 1 ถ้วย ใบมะกรูดฉีกหรือซอย 5 ใบ น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะน้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ หัวกะทิ ¾ ถ้วย หางกะทิ 1 ½ ถ้วย
เครื่องปรุงพริกแกงพะแนง พริกแห้ง (พริกเม็ดใหญ่) แช่น้ำ 5- 8 เม็ด พริกขี้หนูแห้งแช่น้ำ 5 – 6 เม็ด กระเทียมซอย 3 ช้อนโต๊ะ หอมแดงซอย 3 ช้อนโต๊ะ คะไคร้ซอย 1 ต้น ข่าซอย 1 ช้อนชา รากผักชีหั่นละเอียด 1 ต้น ผิวมะกรูดหั่นละเอียด 1 ช้อนชา พริกไทยเม็ด 2 ช้อนชา ยี่หร่าคั่ว ½ ช้อนชา ลูกผักชีคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ ถั่วลิสงคั่ว 2 ช้อน โต๊ะ กะปิ 2 ช้อนชา
วิธีทำแกงพะแนงเนื้อ พริกแห้งพริกขี้หนูแห้งแช่น้ำจนนุ่มแล้วบีบน้ำออก ใส่เกลือป่นลงไปแล้วโขลกเข้าด้วยกัน ใส่ยี่หร่า ลูกผักชี ตะไคร้ ข่า ตะไคร้ พริกไทยเม็ดและผิวมะกรูดโขลกให้ละเอียด เติมหอมแดง กระเทียม ถั่วลิสง กะปิโขลกให้ส่วนผสมเข้ากันและละเอียด เนื้อวัวหั่นเป็นชิ้นบางพอสมควร เพราะเนื้อวัวค่อนข้างเหนียว เคี่ยวหัวกะทิจนแตกมัน ใส่พริกแกงลงไปผัดจนได้กลิ่นหอม (สังเกตุว่า พริกแกงจะเริ่มเป็นสีแดง มีน้ำมันเยิ้ม) ใส่เนื้อวัวลงไปผัดให้สุก เติมหางกะทิลงไป ค่อยๆเคี่ยวจนเนื้อนุ่ม ปรุงรสชาติด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ เมื่อชิมรสดีแล้ว ใส่ใบโหระพา ใบมะกรูด คนให้เข้ากัน ปิดไฟ
จานนี้ให้โปรตีนและไขมันสูงมากทั้งจากเนื้อวัวและกะทิและมีสมุนไพรสดจากเครื่องพริกแกงที่มีสรรพคุณช่วยย่อย แก้ท้องอืด หอมแดง กระเทียมในน้ำพริกแกงช่วยลดคอเลสเตอรอล และพะแนงยังเป็นกับข้าวรสจัดจึงมักกินกับข้าว ทำให้ปริมาณเหมาะสมไปโดยปริยาย